สมัยลพบุรี


พระพุทธศาสนา สมัยลพบุรี พ.ศ. ๑๕๕๐  ในสมัยกษัตริย์กัมพูชาราชวงศ์สุริยวรมันเรืองอำนาจนั้น ได้แผ่อาณาเขตขยายออกมาทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ในราว พ.ศ. ๑๕๔๐ และได้ตั้งราชธานีเป็นที่อำนวยการปกครองเมืองต่าง ๆ ในดินแดนดังกล่าวขึ้นหลายแห่ง เช่น
   เมืองลพบุรี ปกครองเมืองที่อยู่ในอาณาเขตทวาราวดี ส่วนข้างใต้
   เมืองสุโทัย ปกครองเมืองที่อยู่ในอาณาเขตทวาราวดีส่วนข้างเหนือ
   เมืองศรีเทพ ปกครองหัวเมืองที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำป่าสัก
   เมืองพิมาย ปกครองเมืองที่อยู่ในที่ราบสูงต้อนข้างเหนือ
เมืองต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นนี้เมืองลพบุรีหรือละโว้ ถือว่าเป็นเมืองสำคัญที่สุด กษัตริย์กัมพูชาราชวงศ์สุริยวรมัน ทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งมีสายสัมพันธ์เชื่อมต่อมาจากอาณาจักรศรีวิชัย แต่ฝ่ายมหายานในสมัยนี้ผสมกับศาสนาพราหมณ์มาก ประชาชนในอาณาเขตต่าง ๆ ดังกล่าว จึงได้รับพระพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาทที่สืบมาแต่เดิมด้วย กับแบบมหายานและศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาใหม่ด้วย ทำให้มีผู้นับถือพระพุทธศาสนา ๒ แบบ และมีพระสงฆ์ทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน และภาษาสันสกฤตอันเป็นภาษาหลักของศาสนาพราหมณ์ และพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็ได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในด้านภาษาและวรรณคดีไทยตั้งแต่บัดนั้นมา สำหรับศาสนสถานที่เป็นที่ประจักษ์พยานให้ได้ศึกษาถึงความเป็นมาแห่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทยครั้งนั้น คือพระปรางค์สามยอดที่จังหวัดลพบุรี ปราสาทหินพิมาย ที่จังหวัดนครราชสีมา และปราสาทหินเขาพนมรุ้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น ส่วนพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยนั้นก็เป็นแบบขอม ถือเป็นศิลปะอยู่ในกลุ่ม ศิลปสมัยลพบุรี

ยุคลพบุรี (ศตวรรษที่ 15–18) ดินแดนอาณาจักรลพบุรี คำว่า “ลพบุรี” มาจากศัพท์ว่า ลวะปุระ เป็น ละโว้ปุระ เป็น ลพบุรี ตามลำดับแห่งการเพี้ยนมาตามยุคสมัย อยู่ที่บริเวณจังหวัดลพบุรีปัจจุบันและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดไปจนถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในปัจจุบันด้วย และยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยังเหลือมาถึงปัจจุบันนั้นคือ ทะเลชุบศร ซึ่งมีอิทธิพลมาจาก เรื่องรามยณะ(รามเกียรติ์)
ศิลปกรรมอาณาจักรลพบุรี มีลักษณะศิลปะคล้ายกับของเขมรและของทวาราวดี เช่น ศิลปะนครวัต เป็นต้น ปรากฏอยู่มากมาย เช่น ปราสาท, พระปรางค์ ฯลฯ เป็นต้น ส่วนมากในยุคนี้จะก่อสร้างด้วย อิฐ เก่าแก่ที่สุด รองลงมาคือ ศิลาแลง และรองมาอีกคือ หิน ที่ปรากฏหลักฐาน ก็มีที่ ปราสาทหินพิมาย , ปราสาทเขาพนมรุ้ง, พระปรางค์ 3 ยอด ลพบุรี, ปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นศิลปกรรมที่สร้างได้อัศจรรย์มาก เพราะ สร้างโดยไม่มีโครงเหล็กและปูนโบก จากการสันนิษฐาน ในยุคนั้นน่าจะใช้ยางไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ยางบงมา” เพราะเป็นยางที่เหนียวมาก
สถาปัตยกรรมสมัยอาณาจักรลพบุรี ได้แก่ ปราสาทศิลาหรืออิฐ สร้างเป็นศาสนสถานและเทวาลัย ได้รับคติการสร้างปราสาทมาจาก ขอม เช่น พระปรางค์สามยอดเมืองลพบุรี วัดกำแพงแลง จ. ราชบุรี มีกำแพงเป็นพระพุทธรูป ที่กาญจนบุรีพบปราสาทแบบขอม ที่เมืองสุโขทัย มีปราสาทที่วัดพระพายหลวง เป็นต้น
ประติมากรรม สมัยลพบุรีชอบสร้างพระพุทธรูปนาคปรก และมักจะสร้างสลักด้วยศิลาทราย ถ้าหล่อด้วยสำริดจะเป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก มีลักษณะเฉพาะคือ สร้างเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวหรือหลายองค์อยู่บนฐานเดียวกัน พระพิมพ์จะสร้างด้วยดินเผาและโลหะมีลักษณะเด่นพิเศษคือ พระพิมพ์สมัยนี้มักมีรูปปรางค์ประกอบด้วยเสมอ
พุทธศิลป์อาณาจักรลพบุรี ลักษณะพระพุทธรูปแบบลพบุรีบางแบบ มีลักษณะเป็นของตนเอง เช่น พระพุทธรูปรุ่นพระพักตร์แบบรูปไข่ และทรวดทรงอันงาม รวมทั้งความอ่อนหวานของเส้นที่ส่งผลให้แก่ศิลปะสุโขทัยและอยุธยาต่อมาด้วย
อาณาจักรลพบุรี นับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธปนกันไป ศาสนาพราหมณ์ส่วนใหญ่นับถือลัทธิศิวเวท ส่วนพระพุทธศาสนานั้นนับถือลัทธิมหายาน จะพบว่าร่องรอยเกี่ยวกับโบราณสถานของขอมในยุคนี้ เกี่ยวกับลัทธิมหายานทั้งนั้น เช่น พระพุทธปฏิมาของขอม มักทรงเครื่องอลังการวิภูษาตาภรณ์ มีกระบัง มงกุฏบนพระเศียร ที่เรียกว่าเทริด พระโอษฐ์หนา ดวงพระเนตรใหญ่ พระกรรณยาวลงมาจดพระอังสะ ลักษณะใกล้ไปทางเทวรูปมาก พระปฏิมาที่ว่านี้ คือ รูปพระอาทิพุทธะ ในคติมหายาน
ถ้าเป็นรูปรพระศากยมุนี ก็มักจะมีรูปพระโพธิสัตว์ซ้ายขวา แทนรูปพระอัครสาวก มีพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ รูปพระปรัชญาปารมิตาโพธิสัตว์ รูปพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นั้น บางที่ทำเป็น 4 กร บ้าง 6 กร บ้าง คนชั้นหลังไม่รู้นึกว่าเป็นรูปพระนารายณ์ หรือพระพรหมไปก็มี เช่น นักเล่นพระเครื่องตระกูลลพบุรี เรียกพระเครื่องชุดหนึ่งว่า นารายณ์ทรงปืน ความจริงเป็นรูปพระอวโลกิเตศวร พระเครื่องแบบมหายานที่ว่านี้ ขุดได้ที่จังหวัดลพบุรี รวมทั้งพระเครื่องที่เรียกพระหูยาน ที่จริงเป็นพิมพ์ของพระอักโษภยพุทธะ พระพุทธเจ้าประจำทิศบูรพา ปราสาทของสามหลังที่ลพบุรีเดิม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเจ้าตรีกาลตามคติมหายาน มาแปลงเป็นเทวสถานในชั้นหลัง ปราสาทหินพิมายที่โคราชก็เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกองค์มหึมา ที่เรียกกันว่า ชยพุทธมหานาค และประดิษฐานรูปปฏิมา พระไตรโลกวิชัย อันเป็นปางหนึ่งของพระอมิตาภพุทธเจ้า พระพุทธรูปในยุคนี้ ส่วนมากสร้างจากหิน หาสำริดได้น้อย
สำหรับพระพุทธเจดีย์ มีปนกันทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาทซึ่งสืบเนื่องมาแต่สมัยทวาราวดี พระพุทธเจดีย์ฝ่ายลัทธิมหายาน ซึ่งมาแต่เมืองเขมรและบางทีมาจากศรีวิชัยด้วย เจดีย์วัตถุมีมากมายหลายแบบ เช่น เจดีย์ที่วัดมหาธาตุ เมืองลพบุรี บางแห่งทำเป็นปรางค์เรียงกันสามองค์ เรียกว่าปรางค์สามยอด เจดีย์ส่วนมากทำด้วยศิลาแลง ต่อเป็นของเล็กจึงหล่อด้วยทองสำริด
พระพุทธรูปที่สร้างในสมัยลพบุรี มีทั้งศิลา พระหล่อ และพระพิมพ์ เกิดมีพระทรงราชาภรณ์ หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่า พระทรงเครื่อง สังเกตดูพระพิมพ์ที่สร้างสมัยลพบุรี สร้างตามคติมหายานเป็นพื้น มีมากมายหลายอย่าง ทำเป็นพระพุทธรูปนั่งในปรางค์ 3 องค์หมายเป็นพุทธกาย ทำเป็นพระอาทิพุทธเจ้าเป็นประธานมีรูปมนุษย์พุทธเจ้า 4 องค์ 7 องค์เป็นบริวารก็มี ทำพระพุทะรูปอย่างกลาง รูปพระโพธิสัตว์อยู่ข้างก็มี จะพบว่าพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ซึ่งสร้างในสมัยลพบุรี มีปางเหล่านี้เป็นพื้น คือ
1. ปางทรงสมาธิ มีนาคปรกบ้าง ไม่มีบ้าง
2. ปางมารวิชัย (ปางสะดุ้งมาร)
3. ปางยืนกรีดนิ้วพระหัตถ์ ปางเสด็จจากดาวดึงส์
4. ปางยืนตั้งพระหัตถ์ปางประทานอภัย ที่เรียกกันว่า พระห้ามสมุทร
5. ปางป่าเลไลยก์ (ปฐมเทศนา) (มีลิงกับช้าง)คล้ายกับยุคทวาราวดี

รูปพระโพธิสัตว์ตามลัทธิมหายานในสมัยลพบุรี ชอบสร้างแต่ 2 องค์ คือ
  1. รูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ทำอย่างเทวรูปสามัญ มีที่สังเกตคล้ายรูปพระนารายณ์ แต่พระหัตถ์บนสองพระหัตถ์ ถือลูกประคำและหนังสือ พระหัตถ์ล่าง 2 พระหัตถ์ถือดอกบัวและน้ำอมฤตอย่างนี้บ้าง ทำเป็นมนุษย์หลายหน้า ซ้อนกันอย่างหัวโขน หลายพระหัตถ์ หลายพระบาท
     
  2. รูปนางภควดีปัญญาบารมี ทำเป็นรูปนางยกมือขวาถือหนังสือ มือซ้ายถือดอกบัว ซึ่งมักเข้าใจกันว่ารูปนางอุมาภควดี นอกจาก 2 อย่างนี้ มิใคร่ทำเป็นรูปพระโพธิสัตว์องค์อื่น อย่างพวกศรีวิชัยหรือชวา
พุทธเจดีย์ตามแบบสมัยลพบุรีสร้างแพร่หลายในประเทศสยาม ยิ่งกว่าแบบสมัยอื่น เพราะเนื่องกันกับแบบประเทศขอม และสร้างสืบมาในสมัยที่พวกขอมมาปกครองประเทศไทย ทางตะวันออก พุทธเจดีย์เป็นแบบสมัยนี้ไปจนจดแดนญวน ทางทิศเหนือแบบสมัยนี้ สร้างขึ้นไปจนถึงเมืองชะเลียง คือเมืองสวรรคโลก เก่าเป็นที่สุด ที่เมืองลำพูนก็ว่ามีพระพุทธรูปละโว้ แต่สังเกตเห็นเป็นของขนขึ้นไปจากเมืองลพบุรีหาได้สร้างขึ้นที่นั่นไม่ ทางตะวันตก พุทธเจดีย์แบบลพบุรี สร้างลงไปเพียงเมืองเพชรบุรี หาปรากฏว่ามีใต้ลงไปกว่านั้นไม่
ขอบคุณข้อมูลจาก  บ้านจอมยุทธ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น