สมัยทวารวดี





พระพุทธศาสนา สมัยทวาราวดี ผืนแผ่นดินจุดแรกของอาณาจักรสุวรรณภูมิ หรือที่เรียกกันว่า "แหลมทอง" ซึ่งท่าน พระโสณะกับพระอุตตระได้เดินทางจากชมพูทวีปเข้ามาประดิษฐานนั้น จดหมายเหตุของหลวงจีนเหี้ยนจัง เรียกว่า "ทวาราวดี" สันนิษฐานว่าได้แก่ที่จังหวัดนครปฐม เพราะมีโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น พระปฐมเจดีย์ ศิลารูปพระธรรมจักร เป็นต้น ปรากฏว่าเป็นหลักฐานประจักษ์พยานอยู่ พระพุทธศาสนาที่เข้ามาในครั้งนี้ เป็นแบบเถรวาทดั้งเดิม พุทธศาสนิกชนได้มีความศรัทธาเลื่อมใสบวชเป็นพระภิกษุจำนวนมาก และได้สร้างสถูปเจดีย์ไว้สักการะบูชา เรียกว่า สถูปรูปฟองน้ำ เหมือนสถูปสาญจีในอินเดีย ที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างขึ้น ศิลปะในยุคนี้เรียกว่า ศิลปะแบบทวาราวดี ในระยะพุทธศตวรรษที่  12 ดินแดนในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีว่าเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมของวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง วัฒนธรรมสมัยทวารวดีได้ชื่อตามที่ปรากฏในเหรียญเงิน  2 เหรียญ ซึ่งพบที่ตำบลพระประโทน จังหวัดนครปฐม มีข้อความว่า “ ศรีทวารวดี ศวรบุญยะ”  ซึ่งแปลว่า “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี “ จากศิลาจารึกทวารวดีซึ่งพบที่ศาลสูงจังหวัดลพบุรี และอีกหลักหนึ่งที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งข้อความในจารึกเป็นภาษามอญ ทำให้เชื่อกันว่ารัฐทวารวดีเป็นรัฐของชนชาติมอญ อักษรมอญเป็นอักษรที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย นักประวัติศาสตร์ได้กำหนดยุคประวัติศาสตร์ไทยจากการขุดค้นจารึกภาษามอญ อายุประมาณ 1,000  ปี ที่นครปฐมเป็นหลักในการแบ่งมิติเวลายุคประวัติศาสตร์และยุคก่อนประวัติศาสตร์ของไทย หากตั้งคำถามว่าอักษรในยุคนี้ทำไมต้องใช้อักษรมอญ สันนิษฐานว่าเผ่าอื่นยังไม่รู้จักคิดอักษรของตนเองหรือมีแต่ไม่แพร่หลาย และไม่ได้บันทึกเป็นภาษาทางศาสนาหรือพิธีกรรมอันเป็นสิ่งแสดงถึงความศักดิ์สิทธิและความขลัง  (ปัจจุบันเราก็ยังเชื่อว่า ภาษาขอมเป็นภาษาศักดิ์สิทธิและขลัง) เผ่าไท-ลาว นั้นได้ประยุกต์ภาษามอญและขอมมาเป็นอักษรของตนเอง และน่าจะมีอักษรไทใช้ก่อนสุโขทัยเล็กน้อย และเริ่มชัดเจนในสมัยพ่อขุนรามคำแหง (จารึกหลักที่หนึ่งสุโขทัย จารึกขึ้นในปี พ.ศ.  1826 )  อาจกล่าวได้ว่าภาษาและวัฒนธรรมทวารวดีได้แสดงให้เห็นอิทธิพลของวัฒนธรรมมอญในเขตที่ราบลุ่มภาคกลางและได้ขยายไปสู่ดินแดนต่าง ๆ ของประเทศไทย 
            
 หลักฐานสมัยทวารดีที่พบส่วนใหญ่เป็นศิลาจารึกที่เกี่ยวกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไม่มีข้อความกล่าวถึงเรื่องราวทางราชสำนักหรือเรื่องอื่น ๆ ทำให้ความรู้เกี่ยวกับรัฐนี้ไม่ชัดเจนปรากฏเฉพาะด้านศิลปกรรมทางวัฒนธรรมแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของรัฐทวารวดี
                วัฒนธรรมทวารวดีแบ่งออกเป็น  3  กลุ่มใหญ่คือ
                1.วัฒนธรรมทวารวดีในภาคกลาง   ซากเมืองโบราณที่พบ  ได้แก่ เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองนครชัยศรี และเมืองกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เมืองมโนรมย์  จังหวัดชัยนาท เมืองจันเสนอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เมืองพระรถ จังหวัดชลบุรี เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองศรีเทพ  จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น รัฐทวารวดีทางภาคกลางแต่เดิมเข้าใจว่าคงมีศูนย์กลางอยู่ที่นครปฐม แต่เมื่อมีการขุดค้นเมืองอู่ทองซึ่งมีซากเมืองโบราณใหญ่โตทำให้เชื่อว่าเมืองอู่ทองอาจจะเป็นศูนย์กลางของรัฐทวารวดีทางภาคกลางมากกว่าเมืองนครปฐม
                2.วัฒนธรรมทวารวดีทางภาคเหนือ  มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหริกุญไชย  ปัจจุบันคือจังหวัดลำพูน ในหนังสือจามเทวีวงศ์  ได้กล่าวว่า  ฤาษีเป็นผู้สร้างเมืองหริกุญไชยขึ้น  เมื่อสร้างเสร็จได้ส่งทูตไปอัญเชิญพระนางจามเทวีราชธิดาของพระราชาแห่งลวปุระขึ้นมาปกครอง ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นมเหสีของเจ้าเมืองมอญและทรงตั้งครรถ์ได้  3  ดือน เสด็จไปครองหริกุญชัย พระนางจามเทวีทรงมีโอรส  2  องค์ องค์ใหญ่พระนามว่า  มหันตยศ ต่อมาได้ครอบครองราชสมบัติที่เมืองหริกุญไชย องค์เล็กพระนามว่า อนันตยศ พระนางจามเทวีได้ไปสร้างเมืองเขลางค์นครให้ครอบครอง ราชวงศ์ของพระนางจามเทวีปกครองรัฐหริกุญไชยสืบต่อมาตามลำดับ จนถึงราว พ.ศ.1590เรื่องราวของพระนางจามเทวีแม้เป็นเพียงตำนาน แต่ก็เป็นหลักฐานที่ได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐทวารวดีทางภาคกลางและรัฐหริกุญไชย หลักฐานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ศิลาจารึกที่พบตามวัด ต่าง ๆ ในลำพูนซึ่งพบถึง 7 หลักจารึกด้วยภาษามอญ ศิลปกรรมของหริกุญชัยที่สำคัญได้แก่ สถูปพระธาตุหริกุญไชยองค์เดิม พระสุวรรณเจดีย์ และเจดีย์เหลี่ยมที่วัดกู่กุด ใบเสมาขนาดใหญ่เป็นต้น
               3.วัฒนธรรมทวารวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  
                                ซากเมืองโบราณแบบทวารวดีที่พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ได้แก่เมืองเสมา  จังหวัดนครราชสีมา เมืองฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ เมืองหนองหาน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี บริเวณบ้านดอนแก้ว อำเภอกุมภวาปี พบเสมาหินสมัยทวารวดี  อำเภอบ้านผือจังหวัดอุดรธานีพบ พระพุทธรูปที่แกะสลักหินใต้เพิงผา  เสมาแสดงสถานที่ศักดิ์สิทธิเมืองโบราณบ้านตาดทอง จังหวัดยโสธร เป็นต้น  
             เมืองเหล่านี้ไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างแน่ชัด แต่มีตำนานอุรังคธาตุ กล่าวถึงกษัตริย์  4เมือง คือ พญาจุลณีพรหมทัตผู้ครองแคว้นบริเวณหลวงพระบางสิบสองจุไทยพญาคำแดง ผู้ครองแคว้นหนองหานน้อย พญานันทเสน ผู้ครองแคว้นศรีโคตรบูรณ์ พญาอินทปัฐนครผู้ครองแคว้นเขมรโบราณได้มาร่วมกันสร้างพระธาตุพนม ประกอบด้วย เพื่อบรรจุพระอุรังคธาตุคือกระดูกหน้าอกของพระพุทธเจ้าที่พระมหากัสสปเถระนำมาจากเมืองราชคฤห์ ประเทศอินเดีย บริเวณที่สร้างพระธาตุพนม คือ ภูกำพร้าในเขตนครโคตรบูรณ์
                โบราณสถานสมัยทวารวดีทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากซากเมืองโบราณที่ใหญ่โต คือ ที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง และที่เมืองอื่น ๆ แล้วโบราณสถานที่สำคัญคือ พระธาตุพนมองค์เดิมพระธาตุเชิงชุมองค์เดิม (องค์ปัจุบันได้สร้างศิลปแบบล้านช้างครอบทับไว้ )พุทธบาทบัวบกและหอนางอุสา ที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งกำลังจดทะเบียนเป็นมรดกโลก เป็นต้น
                 เมื่อพระธาตุพนมโค่นล้มลง ทำให้สามารถพบลักษณะพระธาตุพนมองค์เดิม ซึ่งสร้างด้วยอิฐก้อนใหญ่และอิฐแต่ละก้อนได้สลักภาพเอาไว้ด้วย ด้านศิลปวัตถุที่สำคัญ คือ การสร้างพระพุทธรูปและใบเสมาของรัฐโคตรบูร มีลักษณะพิเศษนอกจากจะใหญ่โตแล้วยังนิยมแกะสลักเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ ทำให้ได้หลักฐานเพิ่มเติมว่าพระธาตุพนมแต่เดิมไม่ได้สร้างตามลักษณะศิลปะล้านช้างหากแต่เป็นศิลปสมัยศรีโคตรบูรณ์และมีลักษณะคล้ายกับศิลปของจามเข้ามาผสมผสาน
                 เท่าที่ผู้เขียนศึกษาค้นคว้าหาความรู้ หนังสือที่เขียนเกี่ยวกับทวารวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีน้อยมากอยากให้มีผู้ค้นคว้าที่มีความรู้ทางโบราณคดีช่วยเขียนโดยละเอียดน่าอ่านสักเล่ม ผู้เขียนได้นำนักเรียนไปทัศนศึกษาที่อุทยานประวัติศาสตร์พุทธบาทบัวบก ได้ไปสอบหาหนังสือกับเจ้าหน้าที่อุทยานประวัติศาสตร์ มีแต่ศิลปะทวารวดีที่เน้นภาคอื่นเป็นหลัก อย่างไรก็ดีการจัดวิทยากรและสถานที่ของอุทยานแห่งนี้ ทำได้ดีและน่าทึ่งมาก
ขอบคุนข้อมูลจาก  GotoKnow

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น