สมัยอยุธยา


พระพุทธศาสนา สมัยอยุธยา พระพุทธศาสนาในสมัยอยุธยาได้รับอิทธิพลของพราหมณ์เข้ามามาก พิธีกรรมต่าง ๆ ได้ปะปนพิธีของพราหมณ์ เน้นความขลังความศักดิ์สิทธิ์ และอิทธิปาฏิหาริย์ มีเรื่องไสยศาสตร์เข้ามาปะปนอยู่มาก ประชาชนมุ่งเรื่องการบุญการกุศล สร้างวัดวาอาราม สร้างปูชนียวัตถุ บำรุงศาสนาเป็นส่วนมาก ในสมัยอยุธยาต้องประสบกับภาวะสงครามกับพม่า จนเกิดภาวะวิกฤตทางศาสนาหลายครั้ง ประวัติศาสตร์อยุธยาแบ่งเป็น 


   อยุธยาตอนแรก (พ.ศ. ๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) 
ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบร่มเย็น ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงผนวชเป็นเวลา ๘ เดือน เมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ และทรงให้พระราชโอรสกับพระราชนัดดาผนวชเป็นสามเณรด้วย สันนิษฐานว่าเป็นการเริ่มต้นของประเพณีการบวชเรียนของเจ้านายและข้าราชการ ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการรจนาหนังสือมหาชาติคำหลวง ใน พ.ศ. ๒๐๒๕ 

   สมัยอยุธยาตอนที่สอง ( พ.ศ. ๒๐๓๔ - ๒๑๗๓) 
สมัยนี้ได้มีความนิยมในการสร้างวัดขึ้น ทั้งกษัตริย์และประชาชนทั่วไป นิยมสร้างวัดประจำตระกูล ในสมัยพระเจ้าทรงธรรมได้พบพระพุทธบาทสระบุรี ทรงให้สร้างมณฑปครอบพระพุทธบาทไว้ และโปรดให้ชุมชนราชบัณฑิตแต่งกาพย์มหาชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๐ และโปรดให้สร้างพระไตรปิฎกด้วย 

   สมัยอยุธยาตอนที่สาม (พ.ศ. ๒๑๗๓ - ๒๓๑๐) 
พระมหากษัตริย์ที่มีพระนามยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษนี้ ได้แก่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ทรงมีบทบาทอย่างมากทั้งต่อฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักร ทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า สมัยนี้พวกฝรั่งเศสได้เข้ามาติดต่อกับไทย และได้พยายามเผยแผ่ศาสนา และทูลขอให้พระนารายณ์เข้ารีต แต่พระองค์ทรงมั่นคงในพระพุทธศาสนา ทรงนำพาประเทศชาติรอดพ้นจากการเป็นเมืองของฝรั่งเศสได้ เพราะมีพระราชศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง 

   สมัยอยุธยาตอนที่สี่ (พ.ศ. ๒๒๗๕ - ๒๓๑๐) 
พระมหากษัตริย์ที่ทรงมีบทบาทมากในยุคนี้ ได้แก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงเสวยราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๕ การบวชเรียนกลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงยุคหลัง ถึงกับกำหนดให้ผู้ที่จะเป็นขุนนาง มียศถาบรรดาศักดิ์ต้องเป็นผู้ที่ผ่านการบวชเรียนมาเท่านั้น จึงจะทรงแต่งตั้งตำแหน่งหน้าที่ให้ ในสมัยนี้ได้ส่งพระภิกษุเถระชาวไทยไปฟื้นฟูพุทธศาสนาในประเทศลังกาตามคำทูลขอของกษัตริย์ลังกา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๖ จนทำให้พุทธศาสนากลับเจริญรุ่งเรืองในลังกาอีกครั้ง จนถึงปัจจุบัน และเกิดนิกายของคณะสงฆ์ไทยขึ้นในลังกา ชื่อว่า นิกายสยามวงศ์ นิกายนี้ยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบัน
ขอบคุณข้อมูลจาก   ธรรมะไทย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น