สมัยสุโขทัย





พระพุทธศาสนา สมัยสุโขทัย หลังจากอาณาจักรพุกามและกัมพูชาเสื่อมอำนาจลง คนไทยจึงได้ตั้งตัวเป็นอิสระ ได้ก่อตั้งอาณาจักรขึ้นเอง ๒ อาณาจักร ได้แก่ อาณาจักรล้านนา อยู่ทางภาคเหนือของไทย และอาณาจักรสุโขทัย มีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดสุโขทัยปัจจุบัน เมื่อพ่อขุนรามคำแหงเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสดับกิตติศัพท์ของพระสงฆ์ลังกา จึงทรงอาราธนาพระมหาเถระสังฆราช ซึ่งเป็นพระเถระชาวลังกาที่มาเผยแผ่อยู่ที่นครศรีธรรมราช มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกรุงสุโขทัย พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ได้เข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย ถึง ๒ ครั้ง คือครั้งที่ ๑ ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ครั้งที่ ๒ ในสมัยพระเจ้าลิไท พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก กษัตริย์ทุกพระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองโดยธรรม มีความสงบร่มเย็น ประชาชนเป็นอยู่โดยผาสุก ศิลปะสมัยสุโขทัยได้รับการกล่าวขานว่างดงามมาก โดยเฉพาะพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย มีลักษณะงดงาม ไม่มีศิลปะสมัยใดเหมือน
สมัยพ่อขุนรามคำแหง 
รัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง พลเมืองส่วนใหญ่ในสมัยสุโขทัยนับถือศาสนาที่แพร่หลายในขณะนั้น ก็คือ พระพุทธศาสนาทั้งมหายานและเถรวาท และศาสนาพราหมณ์ หลักฐานที่จะเป็นเครื่องชี้ชัดก็คือ คณะสงฆ์ลัทธิลังกาวงศ์ได้เข้ามาตั้งสำนักเผยแผ่ที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็น ครั้งแรกดังที่กล่าวแล้วข้างบน ในเรื่องลัทธิลังกาวงศ์ก็มีอยู่ในจารึกของพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งมีจารึกไว้ว่า (เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๖๕๔ พ.ศ. ๑๘๓๕) เมืองสุโขทัยมีวัดวาอารามมากมายครึกครื้น ส่วนพระสงฆ์นั้นมีปู่ครู มีพระสังฆราช มีพระเถระ มีพระมหาเถระ เรียนรู้พระไตรปิฎก พ่อขุนรามคำแหงทรงทราบเกียรติคุณแห่งพระพุทธศาสนาแบบลัทธิลังกาวงศ์ จึงนิมนต์พระมหาเถระสังฆราชมาจากเมืองนครศรีธรรมราช และให้พำนักอยู่ที่วัดอรัญญิกในกรุงสุโขทัย พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ก็เจริญรุ่งเรืองตั้งแต่นั้นมา ในขณะที่ลัทธิมหายานค่อยเสื่อมกำลังหายไป พ่อขุนรามคำแหงทรงนับถือพระในลัทธิลังกาวงศ์มาก ในวันพระจะนิมนต์พระมหาเถระขึ้นนั่งแสดงธรรมบนพระแท่นมนังศิลาอยู่เป็นประจำ พระองค์เป็นธรรมิกราชาอย่างแท้จริง
พ่อขุนรามคำแหงทรงประพฤติพระองค์เป็นดุจพ่อ ทรงใกล้ชิดกับราษฎรผู้เป็นเหมือนลูกเสมอ จึงได้เกิดมีสุภาษิตสอนราษฎร เช่น พ่อสอนลูกเรียกว่าสุภาษิตพระร่วง ดังมีใจความพอเป็นตัวอย่างดังนี้ "อาสาเจ้าจนตัวตาย อาสานายจนพอแรง ปลูกไมตรีอย่างรู้ร้าง สร้างกุศลอย่ารู้โรย อย่าขูดคนด้วยปาก อย่าถากคนด้วยตา อย่าเผื่อแผ่ความผิด อย่าผูกมิตรคนจร อย่ารักเขากว่าผม อย่ารักลมกว่าน้ำ อย่ารักถ้ำกว่าเรือน อย่ารักเดือนกว่าตะวัน"ด้วยอิทธิพลเกี่ยวกับประเพณีทางศาสนา ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ได้พรรณนาถึงสภาพของของชาวสุโขทัยและประเพณีทางศาสนามีความว่า "คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัย ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษา กรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว เมื่อกรานกฐินมีพนมเบี้ยพนมหมากมีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนนอน บริพารกฐิน โอยทานแล่ปี่แล้ญิบล้าน ไปสวดญัตติกฐินถึงอรัญญิกพู้น...ใครจะมักเล่น...เล่น ใครจะมักหัว...หัว ใครจะมักเลื่อน...เลื่อน เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เทียนญอมคนเสียดกันดูท่านเผ่าเทียน เมืองสุโขทัยนี้มีดังจะแตก"
ศิลปะทางด้านพุทธศาสนา ในสมัยสุโขทัยได้รับพระพุทธสิหิงค์มาจากลังกา ซึ่งเป็นแม่แบบของพระพุทธรูปสุโขทัย พระพุทธรูปในประเทศไทยก่อนหน้านี้ทุกยุคไม่เคยมีเปลวรัศมีสูง เพิ่งจะมีขึ้นครั้งแรกในสมัยสุโขทัย สังฆาฏิพระพุทธรูปในสมัยก่อนหน้านี้ ไม่เคยเป็นแฉกชนิดที่เรียกว่า เขี้ยวตะขาบ พระเจดีย์แบบลอมฟางซึ่งถ่ายทอดมาจากมรีจิวัดเจดีย์ในลังกาก็ดี ถูปารามในลังกาก็ดี สมัยสุโขทัยก็สร้างขึ้นเลียนแบบ เช่น พระมหาธาตุวัดช้างร้อง เมืองชะเลียง
สมัยพระเจ้าธรรมราชา (ลิไท)
ต่อมาถึงรัชสมัยของ พระเจ้ามหาธรรมราชา (ลิไท)(๑) ผู้เป็นราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหง (ปีมะเส็ง จุลศักราช ๖๗๙ พ.ศ. ๑๘๖๐) ทรงสร้างพระมหาธาตุและปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ในเมืองนครชุม ในจารึกกล่าวว่าพระบรมธาตุและต้นมหาโพธิ์เป็นของที่แท้จริงได้มาจากประเทศ ลังกา และทรงส่งให้ราชบัณฑิตไปอาราธนาพระสวามีสังฆราชมาจากเมืองลังกามีนามว่า พระสุมนะ และพระองค์ก็ได้ออกผนวชชั่วระยะหนึ่งที่วัดอรัญญิก นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ได้ทรงพระผนวช ในขณะที่พระองค์ทรงผนวชก็ได้ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่อง เตภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง เป็นนิพนธ์ที่เด่นและมีอิทธิพลต่อคนไทยมากในหลายยุคหลายสมัยต่อมา ทำให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงบาปบุญคุณโทษนรกสวรรค์เป็นอย่างดี

ขอบคุณข้อมูลจาก   kamsai.org

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น